วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560




มารู้จักกับทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา และการนำมาใช้ในการทำงาน

มารู้จักกับทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา และการนำมาใช้ในการทำงาน

มารู้จักกับทฤษฎีสีเชิงจิตวิทยา และการนำมาใช้ในการทำงาน ในศิลปะแขนงต่าง ๆ ล้วนต้องมีการใช้สีเพื่อสื่อให้เห็นถึงอารมณ์ของชิ้นงาน ทฤษฎีสี หมายถึง หลักวิชาเกี่ยวกับสี ที่มองเห็นได้ด้วยสายตา ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราล้วนประกอบไปด้วยสี สามารถจำแนกสีออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
       1.สีที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น สีของรุ้งกินน้ำ สีผิวของวัตถุต่าง ๆ ในธรรมชาติ
       2.สีที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น สีของไฟฟ้า สีของดอกไม้ไฟ สีที่ใช้เขียนภาพ และสีย้อมวัสดุต่าง ๆ
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความรักสวยรักงาม เมื่อมนุษย์มองเห็นความงามตามธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ สัตว์ต่าง ๆ ทิวทัศน์ที่สวยงาม มนุษย์จึงมีความคิกที่อยากจะเก็บความงดงามเหล่านั้นเอาไว้ เริ่มต้นจากการนำเอาใบไม้ หินสีต่าง ๆ  เปลือกหอย ฯลฯ มาประดับบนร่างกาย การเอาดินสีและเขม่ามาทาหรือขีดเขียนตามตัว รวมทั้งการเขียนภาพตามผนังถ้ำในยุคโบราณ ส่วนในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์สีต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ในงานกันอย่างกว้างขวาง

สีกับจิตวิทยาและการนำมาใช้

เฉดสีต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดเมื่อได้มองเห็น ดังนั้นการเลือกใช้สีให้สอดคล้องกับหลักทางจิตวิทยา เราจะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าสีใดมีผลต่อความรู้สึกต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง จึงจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ นักออกแบบจึงมักใช้สีในการชักจูงให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ ความรู้สึกเกี่ยวกับสีเมื่อได้มองเห็น สามารถจำแนกออกได้ดังต่อไปนี้
– สีแดง เป็นสีโทนร้อนที่มองเห็นได้รวดเร็วที่สุด มีความร้อนแรงมากที่สุด จึงมักถูกเลือกให้เป็นสีที่ใช้ดึงดูดความสนใจมากที่สุดเช่นกัน สีแดงจะให้ความรู้สึกของพละกำลัง ความก้าวร้าว ปราดเปรียว รุนแรง รวดเร็ว จึงนิยมนำมาใช้เป็นสีสำหรับรถสปอร์ต เสื้อทีมกีฬา และยังเป็นสีที่แทนความรู้สึกรักชาติ จึงมักใช้สีแดงเป็นสีประจำชาติ โดยสังเกตได้จากธงชาติของประเทศต่าง ๆ ที่มักจะมีสีแดงอยู่ด้วย นอกจากนี้สีแดงยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความเร่าร้อน ความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท และอันตราย อีกด้วย
– สีน้ำเงิน เป็นสีโทนเย็น มีความสว่างสีต่ำ จึงให้ความรู้สึกเยือกเย็น เงียบสงบ เมื่อได้มอง แสดงถึงความรับผิดชอบ ความจริงใจ นักบริหาร นักธุรกิจมักใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นสีรถ หรือเครื่องแต่งกาย สีน้ำเงินอ่อนหรือสีฟ้า มักทำรู้สึกถึงความสะอาด ความเย็น ความผ่อนคลาย จึงมักใช้เป็นสีพื้นหลังของบรรจุภัณฑ์ในสินค้าที่ให้ความรู้สึกเย็นและชุ่มชื่น เช่น แป้งเย็น ยาสระผมสูตรเย็นสดชื่น เป็นต้น
– สีเหลือง เป็นสีโทนร้อนที่ให้ความสว่างสูง สีเหลืองสดจะให้ความรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้มอง แสดงถึงความสนุกสนานร่าเริง ความเบิกบาน ความทันสมัย สุขภาพที่ดี แต่ถ้าเป็นสีเหลืองหม่น ก็จะให้ความรู้สึกที่ดูติดลบ ความขี้ขลาด ความอ่อนแอ ความเจ็บป่วย
– สีเขียว เป็นสีโทนเย็นที่ให้ความ รู้สึกผ่อนคลาย สงบ แต่ก็ให้ความรู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา การเจริญเติบโต ความเป็นธรรมชาติ จึงนิยมใช้สีเขียวเป็นสีสำหรับสินค้าที่มาจากธรรมชาติ สินค้าปลอดสารเคมี หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
– สีม่วง เป็นสีที่เกิดจากสีแดงผสมกับสีน้ำเงิน เป็นได้ทั้งสีโทนเย็นและโทนร้อน ตามปริมาณของแม่สีที่ใช้ผสม จึงเป็นการรวมเอาคุณลักษณะของทั้งสองสีมาไว้เข้าด้วยกัน คือ ความเร่าร้อน ความมีอำนาจของสีแดง และความสงบ ความรับผิดชอบของสีน้ำเงิน สีม่วงจึงมักจะให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ ความหรูหรา ความสูงส่ง ความลึกลับ มีเลศนัย
– สีขาว เป็นสีที่มีความสว่างสีสูงมากที่สุด จึงให้ความรู้สึกโปร่ง เบาสบาย ความละเอียดอ่อน ความบริสุทธิ์ สะอาด ใหม่ สดใส ความดี มีคุณธรรม บางที่ใช้ธงขาวแสดงการยอมแพ้ การสงบศึก ส่วนในบางประเทศตะใช้สีขาวแสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจ การพลัดพราก การจากลา
– สีน้ำตาล เป็นสีที่คล้ายกับลำต้นของต้นไม้ จัดอยู่ในกลุ่มจำพวกสีเย็นให้ความรู้สึกเก่า ความสงบเงียบ การก่อกำเนิด ความแห้งแล้ง เป็นสีที่คล้ายกับผืนดิน ความสมบุกสมบัน เป็นสีแห่งธรรมชาติ สามารถกระตุ้นความรู้สึกแข็งแรง มีพลัง และความน่าเชื่อถือ ความเป็นธรรมชาติ จึงนิยมนำมาใช้เป็นสีของบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร
 สีดำ เป็นสีที่มืดที่สุด จึงให้ความรู้สึกหดหู่ เคร่งขรึม ลึกลับ ความทึบตัน ความน่ากลัว สิ่งชั่วร้าย ความเป็นอมตะ กลางคืน ในบางประเทศจะใช้สีดำเพื่อแสดงถึงความเศร้าหมองและความตาย อย่างเช่นในบ้านเรา นิยมใส่สีดำเพื่อไว้ทุกข์ เป็นต้น

นอกจากนี้สีอ่อนหรือสีที่มีความสว่างสูง จะให้ความรู้สึกว่ามีขนาดใหญ่ และเบากว่าวัตถุที่มีสีเข้ม แม้ว่าในความจริงแล้ววัตถุทั้งสองจะมีขนาดเท่ากันก็ตาม สีที่อยู่ในโทนร้อน เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม จะให้ความรู้สึกว่าอยู่ในระยะใกล้กว่า สีที่อยู่ในโทนเย็น เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน อีกทั้งยังพบว่า สีในโทนร้อนจะให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหวดีกว่าสีในโทนเย็น ดังนั้นในการออกแบบ หรือทำงานศิลปะต่าง ๆ เราควรเลือกใช้เฉดสีให้ตรงกับความต้องการที่เราอยากจะสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สัมมนาและเสนอผลการจัดนิทรรศการ ฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู 2

       กิจกรรมเสริมประสบการณ์ฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู 2 เรื่อง สัมมนาและเสนอผการจัดนิทรรศการ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00 - 17.00 น. ณ ...